ตอนที่ ๔
วิธีถอดถอนพระสังฆาธิการ
—————-
อันการถอดถอนพระสังฆาธิการจากตำแหน่งหน้าที่ เป็นบทบัญญัติเพื่อลงโทษแก่พระสังฆาธิการผู้ละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ตามความในข้อ ๕๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ๕ คือ.-
๑. ทุจริตต่อหน้าที่
๒. ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า ๓๐ วัน
๓. ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
๔. ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแก่การคณะสงฆ์
๕. ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ทั้ง ๕ นี้ เป็นหลักเกณฑ์ให้ดำเนินการถอดถอนพระสังฆาธิการ ส่วนวิธีการปฏิบัตินั้น พอแยกกล่าวได้ดังนี้
๑. ให้ผู้บังคับบัญชารายงานความผิดต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้ง
๒. ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสอบสวน
๓. เมื่อได้ความจริงตามรายงานแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อสังเกต พระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงข้อใดข้อหนึ่งแล้ว มิใช่จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทันที ต่อเมื่อผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามวิธีดังกล่าว และได้สั่งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่แล้ว จึงจะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่
การสอบสวนนั้น จะทำการเองหรือจะตั้งกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นก็ได้ ถ้าตั้งกรรมการสอบสวน กรรมการย่อมมีหน้าที่เพียงสอบสวนเสนอความเห็นเท่านั้น ผู้มีอำนาจแต่งตั้งต้องพิจารณาชี้ขาดเอง และผลของการพิจารณาย่อมปรากฏอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
๑. ได้กระทำความผิด
๑.๑ อย่างร้ายแรง (ลงโทษถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่)
๑.๒ อย่างไม่ร้ายแรง แต่ถ้าจะให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ (ลงโทษปลดจากตำแหน่งหน้าที่)
๑.๓ อย่างร้ายแรงแต่มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี จะให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ก็ไม่เสียหายแก่การคณะสงฆ์ (ลงโทษตำหนิโทษ)
๑.๔ อย่างไม่ร้ายแรง ไม่มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี จะให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ก็ไม่เสียหายแก่การคณะสงฆ์ (ลงโทษตำหนิโทษ)
๑.๕ อย่างไม่ร้ายแรงและมีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี (ลงโทษภาคทัณฑ์)
๒. มิได้กระทำความผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ถ้าให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ (ลงโทษปลดจากตำแหน่งหน้าที่)
๓. มิได้กระทำความผิดและไม่มีมลทินความผิดเลย (จะลงโทษใด ๆ มิได้ แม้ได้สั่งพักจากหน้าที่ไว้ก่อน ก็ต้องสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิม)
เมื่อได้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องรีบรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบ จะลงโทษแล้วเก็บเรื่องเสียมิได้
อนึ่ง ยังมีกรณีอื่นที่ให้ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้ คือ
๑) ถูกตำหนิโทษและยังอยู่ในระหว่าง ละเมิดจริยาในกรณีเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก
๒) กรณีที่ร้องทุกข์ แต่ปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ
๓) ถูกระงับหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามข้อ ๒๕ หรือตามข้อ ๓๓ (๒) หรือถูกให้พักหน้าที่พระอุปัชฌาย์ตามข้อ๓๔ วรรค๓ แห่งกฎ ๑๗ หากฝ่าฝืนให้บรรพชา-อุปสมบท
๔) ถูกลงโทษตามข้อ๓๓ (๒) แห่งกฎ ๑๗ แล้วไม่เข็ดหลาบ ละเมิดซ้ำอีก
- ตัวอย่างหนังสือรายงาน
- ตัวอย่างคำให้การในกรณีละเมิดจริยา
- ตัวอย่างรายงานของคณะกรรมการ
- ตัวอย่างคำพิจารณากรณีละเมิดจริยา
- ตัวอย่างคำสั่งถอดถอนพระสังฆาธิการ
- ตัวอย่างคำสั่งถอดถอนพระสังฆาธิการในกรณีที่ละเมิดจริยาซ้ำอีกในระหว่างตำหนิโทษ
- ตัวอย่างคำสั่งถอดถอนพระสังฆาธิการในกรณีที่ปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ ตามข้อ ๕๓
- ตัวอย่างคำสั่งถอดถอนพระสังฆาธิการในกรณีละเมิดจริยาพระอุปัชฌาย์ ตามข้อ ๓๗ (กฎ ๑๗)