ตอนที่ ๖
วิธีตำหนิโทษและภาคทัณฑ์
————–
ตำหนิโทษ
ตามความในข้อ ๕๔ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ กำหนดโทษฐานละเมิดจริยาไว้ ๕ อย่าง เฉพาะการตำหนิโทษเป็นการลงโทษอย่างที่ ๓ จัดเป็นโทษสถานเบา มีไว้เพื่อลงโทษแก่ผู้ละเมิดจริยาซึ่งไม่ควรลงโทษถึงถอดถอนหรือปลดจากตำแหน่งหน้าที่ มีข้อควรศึกษาดังนี้
๑. ความผิดอันเป็นเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง
๑.๑ ความผิดฐานละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรง
๑.๒ ความผิดฐานละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แต่มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี
๒. ผู้สั่งลงโทษ
๒.๑ ความผิดใน ๑.๑ ผู้บังคับบัญชา
๒.๒ ความผิดใน ๑.๒ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง
๓. วิธีปฏิบัติ
๓.๑ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นผู้ใต้บังคับบัญชาละเมิดจริยาอย่างไม่ร้ายแรงถึงกับต้องถอดถอน ให้สั่งตำหนิโทษได้
๓.๒ ถ้าพระสังฆาธิการรูปใดรูปหนึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง เมื่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งสอบสวนแล้ว ปรากฏว่า รูปนั้นละเมิดจริยาอย่างร้ายแรงจริง แต่ผู้บังคับบัญชาเห็นเหตุอันควรปรานี ให้สั่งตำหนิโทษได้
๓.๓ การสั่งตำหนิโทษนั้น ให้แสดงความผิดเป็นลายลักษณ์ อักษร โดยมีกำหนดไม่เกิน ๓ ปี และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
๓.๔ ให้อำนาจดำเนินการในระหว่าง
๓.๔.๑ ถ้ากลับประพฤติดีในทางคณะสงฆ์พอควรแล้ว ให้สั่งลบล้างตำหนิโทษก่อนกำหนดได้
๓.๔.๒ ถ้าละเมิดฐานเดิมหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ให้ถือว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ในเมื่อมีการละเมิดฐานเดิมหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดต้องรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เพื่อพิจารณาลงโทษฐานละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ภาคทัณฑ์
ส่วนการลงโทษภาคทัณฑ์นั้น ภาคทัณฑ์เป็นการลงโทษฐานละเมิดจริยาอย่างเบาที่สุด ซึ่งมีกำหนดไม่เกิน ๑ ปี ใช้ลงโทษแก่พระสังฆาธิการผู้ละเมิดจริยาซึ่งผู้บังคับ บัญชาเห็นว่ายังไม่ควรลงโทษถึงตำหนิโทษ ในระหว่างที่ถูกลงโทษภาคทัณฑ์นั้น ถ้า
๑) หากกลับประพฤติดีในทางคณะสงฆ์พอควรแล้ว ให้สั่งลบล้างภาคทัณฑ์ก่อนกำหนดได้
๒) ถ้าละเมิดจริยาอีก ให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไปโดยควรแก่กรณี
ในเมื่อมีการละเมิดจริยาอีก ให้สั่งลงโทษถัดขึ้นไป อาจเป็นตำหนิโทษหรือถอดถอนก็ได้ อยู่ที่การละเมิด
อนึ่ง การสั่งตำหนิโทษหรือสั่งลบล้างการตำหนิโทษ และการสั่งภาคทัณฑ์หรือสั่งลบล้างการภาคทัณฑ์นั้น เมื่อสั่งการแล้วต้องรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตน
- ตัวอย่างหนังสือแจ้งการตำหนิโทษ
- ตัวอย่างหนังสือแจ้งลบล้างการตำหนิโทษ
- คำสั่งตำหนิโทษ ตัวอย่างที่ ๑
- คำสั่งตำหนิโทษ ตัวอย่างที่ ๒
- คำสั่งตำหนิโทษ ตัวอย่างที่ ๓
- ตัวอย่างคำสั่งภาคทัณฑ์
- ตัวอย่างคำสั่งลบล้างการตำหนิโทษ
- ตัวอย่างคำสั่งลบล้างการภาคทัณฑ์
- ตัวอย่างคำทัณฑ์บน
Views: 81