ตอนที่ ๘
วิธีทัดทานคำสั่ง
——————
“ทัดทานคำสั่ง” หมายถึง การที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอความเห็นทัดทานคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เป็นการห้ามหรือท้วงติงเพื่อถอนหรือแก้คำสั่ง ขอขยายความตามข้อ ๔๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำ สั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น ให้เสนอ ความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๑๕ วันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง” ความข้อนี้เป็นจริยาพระสังฆาธิการ เป็นข้อที่พระสังฆาธิการต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติ แยกได้ ๓ ประเด็น คือ
๑) ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
๒) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งชอบด้วยอำนาจหน้าที่
๓) ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น ให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง
การปกครองคณะสงฆ์ จัดระบบการบังคับบัญชาตามชั้นตามฐานะ และดำเนินมาได้ด้วยดี เพราะพระสังฆาธิการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่เชื่อฟังแล้ว ความเสีย หายจักมีแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา จึงบัญญัติให้เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ถ้าไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ย่อมเป็นการละเมิดจริยาข้อนี้ แม้มิได้บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาต้องเชื่อฟังผู้ใต้บังคับบัญชาเลย แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บังคับบัญชาต้องรับฟังข้อเสนอของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยแท้
มิใช่แต่จะบัญญัติให้ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาเท่านั้น ยังบัญญัติให้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่อีกส่วนหนึ่งด้วย เพราะเพียง แต่เชื่อฟังแต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง การปกครองคณะสงฆ์หาเป็นไปได้ด้วยดีไม่ จึงบัญญัติ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่ให้ปฏิบัติตามเฉพาะคำสั่งที่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่เท่านั้นเท่ากับบังคับให้ผู้บังคับบัญชาก็สั่งให้ปฏิบัติได้เฉพาะที่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของตนเท่านั้น แม้ในอำนาจหน้าที่ของตน ก็ต้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและชอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเท่านั้น และคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่นั้น ผู้รับคำสั่งไม่ต้องปฏิบัติตาม เพราะมิได้กำหนดให้ปฏิบัติตาม ทั้งกำหนดให้ผู้รับคำสั่งเสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรชี้แจงให้เห็นข้อผิดถูก ไม่ชอบเพราะเหตุใดให้ชัดเจน และอยู่ภายในระยะเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันรับทราบคำสั่ง ถ้าไม่ทัดทานเป็นการละเมิดจริยา ยิ่งถ้าทราบแล้วปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามก็ตาม ถ้าเกิดความเสียหายขึ้น ต้องรับ ผิดชอบร่วมกับผู้สั่ง ดังนั้น ผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแล้ว จะ ต้องตรวจตราให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนจึงปฏิบัติ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยโดยประการใด ต้องเสนอความเห็นทัดทาน เพื่อจะได้ให้ผู้บังคับบัญชาได้รับฟังความคิดเห็นและอาจต้องปฏิบัติตามข้อทัดทาน แต่ถ้าได้ทัดทานแล้ว ผู้สั่งมิได้ถอนคำสั่งหรือแก้คำสั่ง ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัย ต้องปฏิบัติตามแล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง ในการทัดทานคำสั่งนั้น ให้ยึดวิธีปฏิบัติตามข้อ ๔๕ วรรค ๒ ซึ่งมีความว่า “ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ” เพราะอาศัยอำนาจตามความในวรรคนี้ ผู้สั่งจะยืนยันคำสั่งของตนเองมิได้ ถ้ายืนยันเองเป็นการละเมิดจริยา แต่ถ้าพิจารณาคำทัดทานแล้วเห็นด้วยว่า คำทัดทานถูกต้อง คำสั่งของตนไม่ชอบ ยอมแก้หรือถอนคำสั่งนั้นเองแบบสมยอม ก็พอได้แต่ไม่เหมาะ ถ้ายังเห็นว่าคำสั่งของตนถูกต้อง จะต้องให้ผู้บังคับบัญชาเหนือไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นผู้พิจารณาสั่งการ วิธีปฏิบัติพอกล่าวได้ดังนี้
๑) ผู้รับคำสั่งต้องทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ชี้แจงเหตุผลที่สั่งไม่ชอบพอ ควรแก่เหตุ ยื่นต่อผู้สั่งภายใน ๑๕ วันนับแต่วันได้รับคำสั่หง
๒) ผู้สั่งต้องรวบรวมพฤติการณ์รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน เพื่อพิจารณาสั่งการ
๓) ผู้บังคับบัญชาเหนือต้องพิจารณาสั่งการตามอำนาจหน้าที่และให้บริสุทธิ์ยุติธรรม
๔) ผู้บังคับบัญชาเหนือสั่งโดยประการใดเป็นอันยุติ