ตอนที่ ๔
วิธีส่งมอบงาน
ในหน้าที่การวัดและการคณะสงฆ์
—————–
ในมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ บัญญัติไว้ว่า “ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” ดังนั้น การบริหารงานของเจ้าอาวาส เจ้าคณะและไวยาวัจกรในหน้าที่นั้นๆ จึงเป็นการบริหารงานในฐานะเจ้าพนักงาน ดังเช่นข้าราชการบริหารงานราชการแผ่นดิน กฎหมายดังกล่าวเป็นฐานรองรับอำนาจอย่างสมบูรณ์ การปฏิบัติงานราชการแผ่นดินนั้น ในระดับกระทรวง ทบวง กรม เมื่อเปลี่ยน แปลงหัวหน้างาน มีการมอบงานในหน้าที่นั้น ๆ จึงทำให้งานสืบต่อไม่ขาดระยะ งานไม่สะดุดหยุดลง แต่การปฏิบัติงานคณะสงฆ์ ไม่ค่อยมีการมอบงานเป็นกิจลักษณะ แม้จะมีอยู่บ้างก็ยังไม่เป็นระบบเดียวกัน อาจเนื่องมาจากเหตุที่งานคณะสงฆ์นั้น เจ้าคณะต่าง ๆ ต้องจัดหาอุปกรณ์เอง ใช้วัดของตนเป็นสำนักงาน เปลี่ยนแปลงเจ้าคณะแต่ละครั้ง ก็ต้องเริ่มจัดหาอุปกรณ์กันใหม่ เมื่อพ้นจากตำแหน่ง จึงมิได้มอบของใด ๆ เพราะถือว่าเป็นของจัดหาเอง ความจริงนั้น มิได้มีบทบัญญัติให้มอบงานเมื่อพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมอบงานเฉพาะเรื่องไวยาวัจกร แต่ถึงกระนั้น ในทางปฏิบัติควรได้มีงานมอบงานในหน้าที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะ และหน้าที่ไวยาวัจกร จึงกำหนดข้อควรศึกษาไว้เป็น ๕ คือ.-
๑. งานที่ต้องส่งมอบ งานที่ต้องส่งมอบพอกล่าวโดยประเภท ได้แก่ เงิน ทรัพย์สิน ตราประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) งานค้างและดำเนินการอยู่ งานรอปฏิบัติ อุปกรณ์สำนักงาน และอื่น ๆ
๒. กรณีที่ต้องมอบ ได้แก่ ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เพราะเหตุใด ๆ หรือเพราะถึงมรณภาพหรือตาย
๓. ผู้ส่งมอบ ได้แก่เจ้าอาวาส ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เจ้าคณะหรือผู้รักษาการแทนเจ้าคณะหรือไวยาวัจกร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้น ๆ เฉพาะกรณีถึงมรณภาพหรือตาย ให้เลขานุการหรือพระภิกษุผู้ช่วยงาน หรือถ้าผู้นั้นเป็นไวยาวัจกร ก็ให้ทายาทเป็นผู้มอบแทน
๔. ผู้สั่งให้มอบ ถ้ากรณีที่เจ้าอาวาส เจ้าคณะ หรือไวยาวัจกรพ้นจากตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเป็นผู้สั่งมอบงาน
๕. แบบรายงานส่งและรับมอบงาน เพื่อเป็นแนวการศึกษาและปฏิบัติ ได้กำหนดแบบรายงานส่งและรับมอบงานขึ้น ดังต่อไปนี้