ตอนที่ ๔ วิธีออกหนังสือสุทธิ

ตอนที่ ๔

วิธีออกหนังสือสุทธิ

——————-

        หนังสือสุทธิเป็นหนังสือสำคัญ อันแสดงความบริสุทธิ์แห่งสมณเพศของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา แสดงสังกัดคณะและสังกัดวัด จำเป็นที่สุดที่พระภิกษุสามเณรทุกรูปจะต้องมีไว้ประจำตัว  เพราะเป็นเอกสารที่สามารถนำแสดงได้ในทุกกรณี  มีบทบัญญัติบังคับให้พระอุปัชฌาย์ออกหนังสือสุทธิแก่สัทธิวิหาริกของตน การออกหนังสือสุทธิเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์โดยกฎหมาย    พระอุปัชฌาย์จะเว้นไม่ยอมออกหนังสือสุทธิให้มิได้เลย  เรื่องหนังสือสุทธินั้น  มีข้อควรศึกษาดังนี้

        หลักเกณฑ์

                   ผู้ออกหนังสือสุทธิ                    –  พระอุปัชฌาย์

                   .   ผู้รับเข้าสังกัด              –  เจ้าอาวาสที่สังกัดอยู่

                   ผู้รับรองหนังสือสุทธิ    –  เจ้าคณะเจ้าสังกัดชั้นอำเภอขึ้นไป

        วิธีปฏิบัติในขั้นต้น   ต้องศึกษาวิธีกรอกรายการและรายละเอียดในหนังสือสุทธิตั้งแต่หน้า ๑  จนถึงหน้า ๒๗  ให้เข้าใจโดยละเอียดถูกต้อง  เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือสุทธิเป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย

        ในขั้นการปฏิบัติ   ต้องออกหนังสือสุทธิแก่สัทธิวิหาริกทั้งพระภิกษุและสามเณรทุกรูป  แม้ผู้นั้นจะบรรพชาอุปสมบทเพียงชั่วคราวก็ตาม การกรอกรายการนั้น  จะกรอกเองหรือให้ผู้ใดผู้หนึ่งกรอกรายการหน้า ๓ (สถานะเดิม)  หน้า ๔  (บรรพชา)  หน้า ๕  (อุปสมบท)  และหน้า ๖ (สังกัดวัด)  ก็ได้  เมื่อตรวจเห็นว่าถูกต้องเรียบร้อย  ให้ลงเลขที่หนังสือสุทธิหน้า ๒ แล้วจึงลงนาม  อย่าลงนามแล้วมอบให้กรอกข้อความเองเป็นอันขาด  ถ้าวัดที่สังกัดนั้นตนเป็นเจ้าอาวาส  ให้ลงนามในฐานะเจ้าอาวาสด้วย   และถ้าตนเป็นเจ้าคณะเจ้าสังกัดซึ่งมีอำนาจรับรอง  ให้ลงนามและตำแหน่งนั้น ๆ ลงวันที่  เดือน  พ.ศ.  แล้วประทับตราประจำตำแหน่ง  พร้อมกับตรวจภาพถ่ายซึ่งติดที่หน้า ๒ แล้วประทับตรากำกับภาพถ่ายที่มุมซ้ายมือด้านล่าง  และลงทะเบียนสัทธิวิหาริกแล้ว  จึงมอบหนังสือสุทธิให้   ในกรณีที่ตนไม่มีอำนาจรับรอง   เมื่อได้ดำเนินการตามลำดับจนถึงลงนามในหน้า ๔  หรือหน้า ๕ และหน้า ๖  ในฐานะพระอุปัชฌาย์และเจ้าอาวาสแล้ว  ให้จัดทำหนังสือขอรับรองไปยังเจ้าคณะเจ้าสังกัดผู้มีอำนาจรับรอง  เมื่อได้รับรองแล้ว  ให้จัดการลงทะเบียนและมอบหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก อย่ามอบให้สัทธิวิหาริกนำไปขอรับ รองเอง   หรืออย่าขอให้เจ้าคณะเจ้าสังกัดลงนาม และประทับตรารับรองหนังสือสุทธิเปล่าไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเล่ม ข้อนี้ต้องระวัง  เพราะเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียหลายประการ

Views: 400