ตอนที่ ๖ วิธีฝากสัทธิวิหาริกเข้าอยู่วัดอื่น

ตอนที่ ๖

วิธีฝากสัทธิวิหาริกเข้าอยู่วัดอื่น

——————

          ในทางพระวินัย พระอุปัชฌาย์คือผู้ปกครองดูแลสั่งสอนสัทธิวิหาริกโดยตรง  พร้อมทั้งให้การศึกษาอบรมพระธรรมวินัยแก่สัทธิวิหาริก ตลอดเวลาที่สัทธิวิหาริกยังเป็นนวกภิกษุคือพรรษายังไม่พ้น ๕  พระอุปัชฌาย์ต้องประคับประคองสัทธิวิหาริก เพื่อ ให้ตั้งมั่นในสัมมาปฏิบัติและมีความรู้พระธรรมวินัยพอรักษาตัวได้   เปรียบเหมือนบิดามารดาต้องรับเป็นภาระธุระบุตรธิดาซึ่งยังเป็นผู้เยาว์คือยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างใกล้ชิด  หน้าที่พระอุปัชฌาย์ที่จะปฏิบัติหลังจากให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว  เป็นภาระ ธุระที่ละเอียดอ่อน และเป็นภาระธุระที่ให้คุณประโยชน์แก่สัทธิวิหาริกพร้อมทั้งคณะสงฆ์และพระศาสนาเป็นอย่างมากยิ่ง   แต่พระอุปัชฌาย์บางรูปมักละเลยหน้าที่อันนี้เสีย เพื่อการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์สอดคล้องทางพระวินัยมากที่สุด มหาเถรสมาคมจึงบัญญัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ไว้ในข้อ ๑๙   แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่  ๑๗  (พ.ศ. ๒๕๔๑)  ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ  ไว้ดังนี้

        ข้อ ๑๙  พระอุปัชฌาย์เมื่อให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว  มีหน้าที่ต้องถือเป็นภาระธุระปกครองดูแลสั่งสอนสัทธิวิหาริกของตนให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ ต้องขวนขวายให้ได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย และต้องออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริกตามความในข้อ  ๔๑ เพื่อแสดงสังกัดถิ่นที่อยู่และความบริสุทธิ์แห่งสมณเพศ

          ถ้าสัทธิวิหาริกผู้มีพรรษายังไม้พ้น  ๕  จะไปอยู่ในวัดอื่นใด  เมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นสมควรก็ให้สอบถามไปยังเจ้าอาวาสวัดนั้น  เมื่อได้รับคำยืนยันรับรองที่จะปกครองดูแลสั่งสอนแทนได้  จึงให้ทำหนังสือฝากและมอบภาระธุระแก่เจ้าอาวาสวัดนั้น  ให้เป็นผู้ปกครองดูแลสั่งสอนแทนตน

          ถ้าสัทธิวิหาริกผู้นั้นมีพรรษายังไม่พ้น  ๕   จะย้ายไปอยู่ในวัดอื่นต่อไปอีก  ให้เจ้าอาวาสผู้รับฝากปกครองแจ้งไปยังพระอุปัชฌาย์ เพื่อได้ปฏิบัติการตามความในวรรค ๒  แต่ถ้าพระอุปัชฌาย์นั้นพ้นจากความเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ก็ให้เจ้าอาวาสผู้ปกครองปฏิบัติการตามความในวรรค  ๒

          ตามความในวรรคแรก  ยืนยันชัดเจนว่า  พระอุปัชฌาย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพระธรรมวินัยและตามกฎมหาเถรสมาคมเป็น  ๓  ประการคือ

          ต้องเป็นภาระธุระปกครองดูแลสั่งสอนสัทธิวิหาริกให้ตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ

          ต้องขวนขวายให้สัทธิวิหาริกได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย

          ต้องออกหนังสือสุทธิให้แก่สัทธิวิหาริก

        อันหน้าที่ประการที่ ๓ เป็นหน้าที่ตามกฎหมาย  เพราะพระอุปัชฌาย์ในปัจจุบันต้องเป็นพระอุปัชฌาย์ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมาย  มิใช่ชอบเพียงอย่างเดียวและประการนี้ได้เรียนถวายแล้วแต่ตอนที่  ๔-๕ 

        ส่วนหน้าที่ประการที่ ๑ – ๒  แต่เดิมเป็นหน้าที่ตามพระธรรมวินัย  ครั้นได้บัญญัติไว้ในกฎมหาเถรสมาคม  จึงเป็นหน้าที่ตามพระธรรมวินัยและกฎหมาย  โดย เฉพาะการปกครองดูแลอบรมสั่งสอนตลอดจนการให้การศึกษาพระธรรมวินัยนั้น  ต้องให้เป็นไปอย่างใกล้ชิด โดยพระวินัยนั้น สัทธิวิหาริกต้องอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์ตลอด จนเวลาที่ยังเป็นนวกภิกษุ  แต่เมื่อพรรษายังไม่พ้น ๕ จะไปอยู่สำนักอื่น  ต้องให้ถือนิสัยในพระภิกษุอื่นกล่าวคือให้พระภิกษุอื่นทำหน้าที่ปกครองดูแลอบรมสั่งสอนแทน  ความในวรรค  ๒ – ๓  จึงบัญญัติไว้โดยชัดเจนว่า  พระภิกษุผู้มีพรรษายังไม่พ้น  ๕  จะไปอยู่วัดอื่น พระอุปัชฌาย์ต้องสอบสวนการควรไม่ควรและมีผู้รับปกครองแทนได้หรือไม่  เมื่อได้รับคำยืนยันว่าจะปกครองแทนได้  จึงฝากและมอบภาระธุระให้ปกครองแทนตนเป็นลายลักษณ์อักษร   ถ้ายังมีพรรษาไม่พ้น ๕ จะย้ายไปอยู่วัดอื่นต่อไปอีก ให้ผู้รับปกครองแทนแจ้งเรื่องราวให้ทราบ  และพระอุปัชฌาย์ต้องสอบสวน  เห็นควรแล้วจึงทำหนังสือฝากเช่นที่กล่าวแล้ว       แม้เจ้าอาวาสจะรับสัทธิวิหาริกของผู้อื่นซึ่งมีพรรษายังไม่พ้น ๕ ก็ควรสอบสวนไปยังพระอุปัชฌาย์ก่อน  กรณีที่พระอุปัชฌาย์พ้นจากความเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว  เจ้าอาวาสที่สัทธิวิหาริกอยู่ในปกครอง  ต้องปฏิบัติการแทนตามข้อ  ๑๙  วรรค  ๒  นั้น