ตอนที่ ๒
วิธีขอตั้งวัด
——————-
วิธีขอตั้งวัด เป็นวิธีสืบเนื่องมาจากวิธีที่ ๑ ซึ่งเมื่อกรมการศาสนาได้ออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดแล้ว ผู้ได้รับอนุญาตหรือทายาท หรือผู้แทน จะต้องดำเนินการสร้างวัดโดย
(๑) ต้องสร้างเสนาสนะตามแบบแปลนแผนผังที่ได้รับอนุญาต
(๒) ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด
(๓) เมื่อได้สร้างเสนาสนะพอเป็นที่พำนักสงฆ์ได้ ๔ รูป ต้องดำเนินการขอตั้งวัด
วิธีและขั้นตอนแห่งการขอตั้งวัดนั้น เป็นวิธีปฏิบัติงานในหลายระดับ เช่นเดียว กับการขออนุญาตสร้าง พอสรุปได้ดังนี้
หน้าที่ผู้ขอตั้งวัด
(๑) จัดทำรายงานขอตั้งวัด โดยมีเอกสารประกอบ คือ
ก) สำเนาหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด
ข) แผนผังที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด
ค) ภาพถ่ายเสนาสนะและสิ่งก่อสร้างซึ่งแล้วเสร็จ
(๒) ยื่นคำขอตั้งวัดต่อนายอำเภอท้องที่
หน้าที่ผู้ปฏิบัติตามลำดับ
ตั้งแต่นายอำเภอรับเรื่องจนถึงส่งกรมการศาสนา เช่นเดียวกับวิธีขออนุญาตสร้างวัด
หน้าที่กรมการศาสนา
(๑) พิจารณาแล้วขอรับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ
(๒) นำเสนอมหาเถรสมาคมขอรับความเห็นชอบ
(๓) เสนอกระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา
(๔) ส่งเรื่องกลับและแจ้งให้คณะสงฆ์รับปกครองต่อไป
หน้าที่ฝ่ายสงฆ์เมื่อตั้งวัดแล้ว
(๑) ขึ้นทะเบียนวัด
(๒) ขอเลขทะเบียนบ้านตามระเบียบทางราชการ
(๓) แต่งตั้งเจ้าอาวาส
(๔) ให้เจ้าของที่ดินโอนที่ดินให้แก่วัด
(๕) ให้ผู้ขออนุญาตโอนสิ่งที่ปลูกสร้างให้แก่วัด
(๖) ให้เจ้าอาวาสบันทึกประวัติวัดไว้เป็นหลักฐาน
Views: 75