ตอนที่ ๗ วิธีขอยกวัดร้าง ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่อาศัย

ตอนที่ ๗

วิธีขอยกวัดร้าง

ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่อาศัย

———————-

        วัดใด ๆ  ซึ่งตั้งเป็นวัดโดยชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมมีสภาพเป็นนิติบุคคล  แต่เมื่อไม่มีพระภิกษุอาศัย  ย่อมกลายเป็นวัดร้าง  เหมือนคนสลบ  ถ้ามิได้ประกาศยุบเลิก  วัดนั้นย่อมมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่ แต่เพราะไม่มีผู้แทนในกิจทั้งปวงและไม่มีพระภิกษุอยู่เลย วัดนั้นย่อมพักสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เทียบได้กับคนสลบ แม้จะยังเป็นอยู่ก็หารู้รับเรื่องใด ๆ ได้ไม่  วัดร้างเช่นนี้  ย่อมตกเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรที่จะปกครองรักษา  โดยถือตามความในมาตรา ๘  แห่งพระราชบัญญัติลักษณปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑  เป็นต้นมา   แม้ในมาตรา ๓๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็กำหนดให้กรมการศาสนามีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาวัดร้างเช่นเดียวกัน   แต่วัดร้างนั้น เมื่อสงฆ์เห็นสมควรจะยกขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา  ก็ย่อมกระทำได้โดยแท้  เมื่อประชาชนมีหนังสือถึงเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอท้องที่ที่วัดร้างตั้งอยู่   วัดที่ควรจะยกขึ้นนั้น  ต้องมีลักษณะ ๖  คือ

        ๑)  วัดนั้นอยู่ในสภาพที่สมควรเป็นที่อยู่อาศัยและจำพรรษาของพระภิกษุ

        ๒)  มีประชาชนในละแวกใกล้เคียงพอจะบำรุงวัดให้เจริญได้

        ๓)  ตั้งอยู่ห่างจากวัดที่มีพระสงฆ์ไม่ต่ำกว่า ๒ กิโลเมตร

        ๔)  มีที่ดินพอที่จะขยายวัดให้เจริญได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๖ ไร่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

        ๕)  พอใจในหลักฐานของประชาชนที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ได้

        ๖)  สามารถจะจัดหาพระภิกษุมาอยู่อาศัยและอยู่จำพรรษาไม่น้อยกว่า ๔ รูป

        วิธีปฏิบัติ   ประชาชนต้องเป็นผู้จัดทำรายงาน   เพื่อเสนอยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่อาศัยจำพรรษายื่นต่อเจ้าคณะอำเภอหรือนายอำเภอท้องที่  รายงานนั้นต้องมีเอกสารประกอบและแสดงรายการดังนี้

        (๑)  แผนที่แสดงเขตที่ตั้งวัดที่ขอยกให้ชัดเจน

        (๒)  ถาวรวัตถุหรือปูชนียวัตถุ (ถ้ามี)  พร้อมทั้งผัง

        (๓)  ระบุจำนวนพระภิกษุที่จะเข้าอยู่อาศัยและผู้จะเป็นเจ้าอาวาส

        (๔)  บอกระยะห่างจากวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา

        (๕)  ระบุจำนวนหมู่บ้านและประชาชนที่จะให้วัดประกอบศาสนกิจ

        หน้าที่เจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอ พิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งเรื่อง ราวไปยังเจ้าคณะจังหวัด

        หน้าที่เจ้าคณะจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด  พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วส่งไปยังกรมการศาสนา

        หน้าที่กรมการศาสนา นำความเห็นเสนอมหาเถรสมาคม หากมีความสงสัยอาจ สอบถามเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะใหญ่ เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นชอบแล้ว  ให้กรมการ-ศาสนาประกาศยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา   แล้วแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองรับปกครองดูแล และแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด