ตอนที่ ๙
วิธียกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง
———————-
วิธีขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสที่จะดำเนินการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชอาณาจักรเป็นเจ้าการ โดยมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้.-
หน้าที่เจ้าอาวาส
(๑) พัฒนาวัดให้ได้หลักเกณฑ์ตามความในข้อ ๓ แห่งระเบียบกระทรวง ศึกษาธิการ
(๒) ประชุมปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาผู้บำรุงวัด
(๓) จัดทำรายงานพร้อมด้วยเอกสารประกอบ คือ
(ก) ประวัติวัดให้เขียนโดยละเอียดพร้อมหลักฐานอ้างอิง
(ข) แผนที่แสดงที่ตั้ง
(ค) แผนผังแสดงสิ่งปลูกสร้าง
(ง) ภาพถ่ายเสนาสนะและถาวรวัตถุ
(จ) หลักฐานการปรึกษาสงฆ์และทายกทายิกาผู้บำรุงวัด
(๔) ยื่นรายงานต่อนายอำเภอ
หน้าที่นายอำเภอ
(๑) ร่วมกับศึกษาธิการอำเภอให้ความเห็นชอบ
(๒) นำปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ
(๓) ส่งเรื่องราวไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด
หน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัด
(๑) ร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดให้ความเห็นชอบ
(๒) นำปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด
(๓) ส่งเรื่องราวไปยังกรมการศาสนา
หน้าที่กรมการศาสนา
(๑) พิจารณาขอรับความเห็นชอบจากเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะใหญ่
(๒) รายงานต่อกระทรวงศึกษาธิการขอรับความเห็นชอบ
(๓) นำเสนอมหาเถรสมาคมขอรับความเห็นชอบ
(๔) ส่งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอพระราชทาน และแจ้งความยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงในราชกิจจานุเบกษา
(๕) ขึ้นทะเบียนพระอารามหลวง
(๖) แจ้งเจ้าคณะภาคและผู้ว่าราชการจังหวัด
วัดราษฎร์ซึ่งยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงแล้ว ย่อมเปลี่ยนแปลงฐานะ ทำให้เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งมีอยู่เดิมพ้นจากความเป็นพระสังฆาธิการ ตำแหน่งดังกล่าว คณะสงฆ์ต้องดำเนินการแต่งตั้งใหม่ ถ้าแต่งตั้งเจ้าอาวาสทันทีมิได้ ต้องแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส