ส่วนที่ ๙
การจัดศาสนสมบัติของวัด
———————
ศาสนสมบัติ คือสมบัติของพระศาสนา เป็นอุปกรณ์อันสำคัญยิ่งในการดำเนินกิจการคณะสงฆ์และการพระศาสนา จัดไว้ ๒ ประเภท คือ
๑) ศาสนสมบัติกลาง ได้แก่ ทรัพย์สินของพระศาสนามิใช่ของวัดใดวัดหนึ่ง
๒) ศาสนสมบัติของวัด ได้แก่ ทรัพย์สินของวัดใดวัดหนึ่ง
กรมการศาสนาเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติกลาง และให้ถือว่ากรมการศาสนาเป็นเจ้าของศาสนสมบัติกลางนั้นด้วย
เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ส่วนวิธีดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง จะให้เป็นตามวิธีการอื่นมิได้
ในฐานะที่วัดทุกวัดเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มาตรา ๓๑ และมาตรา ๑๙ วัดจึงมีสิทธิรับและครอบครองทรัพย์สินซึ่งเป็น ศาสนสมบัติของวัดได้ดุจบุคคลธรรมดา แต่เพราะวัดมิใช่บุคคลธรรมดา แสดงเจตนาในการรับหรือในการครอบครองทรัพย์สินเองมิได้ กฎหมายได้กำหนดชัดว่า “ให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนวัดในกิจการทั่วไป” วัดจึงอาศัยเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนในการรับทรัพย์สินและการอื่น เจ้าอาวาสมีฐานะเป็นผู้แทนวัด มิใช่เป็นเจ้าของทรัพย์สินของวัด เจ้าอาวาสมีฐานะเจ้าพนักงานตามในประมวลกฎหมายอาญา ตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ดังนั้น เจ้าอาวาสจะต้องดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี คือให้เป็นตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง หากดำเนินการมิชอบ ย่อมตกอยู่ในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติมิชอบ ทั้งเป็นการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ จึงขอเรียนถวายวิธีปฏิบัติเป็นตอน ๆ ดังนี้
- ตอนที่ ๑ วิธีจัดทำทะเบียนทรัพย์สินของวัด
- ตอนที่ ๒ วิธีกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์
- ตอนที่ ๓ การให้เช่าที่ดินหรืออาคาร
- ตอนที่ ๔ การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ที่กัลปนา หรือที่ดินที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์
- ตอนที่ ๕ วิธีรับและเก็บรักษาเงินของวัด และวิธีทำบัญชี
Views: 301