ตอนที่ ๑
วิธีจัดทำทะเบียนทรัพย์สินของวัด
——————-
ทรัพย์สินอันเป็นศาสนสมบัติของวัด เป็นสมบัติส่วนหนึ่งของพระศาสนา กล่าวคือเป็นสมบัติส่วนวัด ได้แก่ เงิน ที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินอื่น กล่าวรวมได้แก่ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการจัดการและการเก็บรักษานั้น ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้เจ้าอาวาสเข้าใจวิธีปฏิบัติและปฏิบัติได้ถูกตามกฎกระทรวง จึงขอเรียนวิธีทำทะเบียนทรัพย์สินของวัด ดังต่อไปนี้
๑. ทรัพย์สินที่ต้องลงทะเบียน
๒. การได้มาซึ่งทรัพย์สิน
๓. การจำหน่ายทรัพย์สิน
๔. วิธีจัดทำทะเบียน
ทรัพย์สินที่ต้องลงทะเบียน กำหนดโดยลักษณะเป็น ๔ คือ
(๑) เงิน (ลงบัญชีรับ)
(๒) ที่ดิน
(๓) เสนาสนะถาวร หรืออาคารอื่น
(๔) ของมีค่าอื่น เช่น ธรรมาสน์บุษบก พระพุทธรูป
ทั้ง ๔ ลักษณะนี้ ต้องจัดลงบัญชีรับและทำทะเบียนทุกชนิดและทุกจำนวน ไม่ละเว้น ส่วนของเบ็ดเตล็ดอื่น(ลหุภัณฑ์) สุดแต่เจ้าอาวาสพิจารณาเห็นสมควร
การได้มาซึ่งทรัพย์สิน ได้แก่การได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดโดยวิธีใด ๆ อันชอบ ส่วนที่ดินมีวิธีได้มาอันละเอียด ซึ่งพอกำหนดได้ ดังนี้
(๑) เมื่อได้มาจากผู้ใด ต้องขอรับหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์จากผู้นั้น
(๒) ต้องนำหนังสือสำคัญ แสดงกรรมสิทธิ์ไปขอจดทะเบียน คือ
ก. โฉนด ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด
ข. นส.๓ ที่สำนักงานที่ดินอำเภอ
ค. สค.๑ ให้ปรึกษาอำเภอหรือจังหวัดเพื่อทราบวิธีปฏิบัติ
(๓) การได้มาซึ่งที่ดินย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย ในเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว
ที่ดินที่ได้ใหม่ เมื่อได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ให้ลงรายการในทะเบียนทรัพย์สินวัด ส่วนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัด แม้ยังไม่มีโฉนด หรือ นส. ๓ ก็ให้ลงทะเบียนไว้เพราะวัดครอบครองมานาน แล้วให้เร่งติดต่อสำนักงานที่ดินเพื่อทำโฉนด หรือ นส. ๓ ต่อไป และ โฉนด หรือ นส. ๓ ที่วัดและธรณีสงฆ์ซึ่งได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ให้ฝากโฉนด หรือ นส.๓ ไว้ ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
การจำหน่ายทรัพย์สิน หมายถึง การจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งหมดสภาพเป็น ศาสนสมบัติออกจากทะเบียน เช่น กุฎีถูกรื้อ ที่ดินถูกโอนโดยพระราชบัญญัติ โดยถือหลักว่า “มีให้จด” “หมดให้จ่าย” หากไม่ปฏิบัติเช่นนี้ เจ้าอาวาสอาจตกอยู่ในฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และอาจเป็นการละเมิดจริยาอีกโสดหนึ่งด้วย
วิธีทำทะเบียน ให้ใช้ทะเบียนทรัพย์สินของวัด (ศบว.๑) จัดทำทะเบียนทรัพย์สินของวัดทุกจำนวนให้ถูกต้องเรียบร้อย และเก็บทะเบียนเล่มนั้นไว้เป็นหลักฐาน โดยลงรายการดังนี้
ช่องที่ ๑ เลขที่ทรัพย์สิน สำหรับลงเลขที่บอกลำดับที่ลงทะเบียนก่อนหลัง
ช่องที่ ๒ วัน เดือน ปี สำหรับลงวันที่ เดือน พ.ศ.ซึ่งลงทะเบียนทรัพย์สินนั้น
ช่องที่ ๓ รายการทรัพย์สิน สำหรับลงชื่อทรัพย์สินเช่น ที่วัด กุฎี อาคารพาณิชย์
ช่องที่ ๔ จำนวนเนื้อที่สำหรับจำนวนสิ่งของ หรือจำนวนเนื้อที่ที่ดินเช่น ไร่ งาน วา
ช่องที่ ๕ หนังสือสำคัญ ฯ สำหรับลงเลขที่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น โฉนดที่…… หรือเครื่องหมายทรัพย์สิน เช่น เบอร์พระพุทธรูป
ช่องที่ ๖ ทรัพย์สินรายนี้ตั้งอยู่ ฯ สำหรับลงที่ตั้งของทรัพย์สิน
ช่องที่ ๗ รายการจำหน่าย สำหรับลงรายการเมื่อมีการจำหน่ายโดยระบุ วัน เดือน ปี จำนวน และเหตุที่จำหน่าย
ช่องที่ ๘ หมายเหตุ สำหรับใช้หมายเหตุประกอบในกรณี
ทะเบียนทรัพย์สินของวัดนี้ จะทำรวมเล่มเดียวทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ หรือโดยแยกเป็นทะเบียนสังหาริมทรัพย์เล่มหนึ่ง และอสังหาริมทรัพย์เล่มหนึ่งก็ได้
Hits: 28