ตอนที่ ๗
วิธีขอสมณศักดิ์
และขอเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ
——————–
การพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์นั้น แต่เดิมมาคณะสงฆ์มิได้ขอรับพระ ราชทานเอง องค์พระมหากษัตริย์ทรงทราบกิตติคุณของพระเถระรูปใดด้วยพระเนตรพระกรรณ ทรงเห็นว่าควรแก่การยกย่อง ก็ทรงพระราชทานแก่รูปนั้น แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์ในส่วนภูมิภาค ก็ทรงพิจารณาความดีความชอบทางเสนาบดีกระทรวงธรรมการและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เริ่มแต่เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ-วโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกเป็นต้นมา สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงมีส่วนในการพิจารณาพอสมควร และเริ่มแต่เมื่อใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒๔๘๔ เป็นต้นมา การพิจารณาความดีความชอบดังกล่าว ได้ตกเป็นภาระของคณะสงฆ์ นอก จากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะเท่านั้น ซึ่งทางราชการต้องเป็นภาระในการพิจารณาหรือร่วมพิจารณา ทั้งนี้ เพราะการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และตามกฎหมายปัจจุบัน เป็นภาระของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ย่อมใกล้ชิดและทราบความเหมาะสมของพระสงฆ์ได้ดี ทั้งเพราะสมณศักดิ์เป็นอุปกรณ์การปกครองคณะสงฆ์ที่สำคัญยิ่ง การที่คณะสงฆ์รับภาระย่อมมีโอกาสยกย่องพระภิกษุได้อย่างเหมาะสม และการขอนั้นกำหนดเป็น ๓ คือ.-
๑) ขอพระราชทานสมณศักดิ์
๒) ขอประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ
๓) ขอประทานประทวนสมณศักดิ์
การขอสมณศักดิ์ชั้นพระครูสัญญาบัตร ให้แก่พระสังฆาธิการตำแหน่งใด ๆ การขอสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ การขอเลื่อนพระราชาคณะชั้นสามัญเป็นต้น ให้มีสมณศักดิ์ชั้นสูงขึ้นและการขอสถาปนาสมณศักดิ์ เรียกว่า “ขอพระราชทานสมณศักดิ์”
การขอเลื่อนพระครูสัญญาบัตรชั้นต่ำให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นสูง เช่น ขอเลื่อนพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรี เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท เรียกว่า “ขอประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ”
การขอตั้งพระสังฆาธิการ ซึ่งเป็นกรรมการศึกษาหรือเป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนประชาบาลเป็นพระครูในนามเดิม เรียกว่า “ขอประทานประทวนสมณศักดิ์”
วิธีขอพระราชทานสมณศักดิ์ นั้น เท่าที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน พระสังฆาธิการผู้ปกครองคณะสงฆ์หรือเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ เป็นผู้ริเริ่มการในการขอพระสังฆาธิการในบังคับบัญชาของตน โดยสั่งให้รูปที่จะขอทำประวัติตามแบบฟอร์มตรวจรับรองแล้วเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาตามลำดับ เพื่อคณะอนุกรรมการของแต่ละฝ่ายพิจารณาชั้นหนึ่งก่อนแล้วนำเสนอพิจารณาในมหาเถรสมาคม จากนั้นมอบเรื่องราวให้ทางราชการ เพื่อดำเนินการอื่นและนำความกราบบังคมทูล
วิธีขอประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ นั้น ในขั้นต้นจนถึงมหาเถรสมาคมพิจารณา ดำเนินการอย่างเดียวกันกับการขอพระราชทานสมณศักดิ์ เมื่อพิจารณาในมหาเถรสมาคมแล้ว มหาเถรสมาคมจะประกาศเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการในวันพระราช-พิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
วิธีขอประทานประทวนสมณศักดิ์ นั้น ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลที่พระ สังฆาธิการรูปนั้น เป็นกรรมการศึกษาหรือเป็นผู้อุปถัมภ์อยู่เป็นผู้ทำเรื่องราวชั้นต้น และต้องผ่านการพิจารณาทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายราชอาณาจักร (อำเภอ-จังหวัด) เมื่อเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะใหญ่พิจารณาแล้ว กรมการศาสนานำขึ้นทูลถวายสมเด็จพระสังฆราช และทรงตั้งในวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
วิธีขอดังกล่าวนี้ มีข้อที่ควรศึกษาเพื่อการปฏิบัติดังนี้.-
๑. การจัดทำประวัติ ให้จัดทำตามแบบฟอร์มซึ่งจัดเป็นตัวอย่างตามความเป็นจริง รายการในแบบฟอร์มไม่พอให้เพิ่มเข้า รายการพระภิกษุจำพรรษาและรายการงานการศึกษาให้แสดงย้อนหลัง ๓ พ.ศ. อย่าแสดง พ.ศ.เดียวและต้องแสดงให้ชัดเจน จัดทำประวัติให้อ่านง่าย ใช้ถ้อยคำกะทัดรัดและสละสลวย รายงานก่อสร้างพ.ศ.ใด สร้างอะไร ที่ไหน ขนาดและทรวดทรงเป็นลักษณะอย่างไร สิ้นเงินเท่าใด บอกให้แจ้งชัด
๒. การรับรองประวัติ ผู้บังคับบัญชาต้องตรวจรายการในประวัติทุกรายการ เห็นว่าถูกต้องจึงลงนาม หากบกพร่องสั่งให้แก้ไขจนถูกต้อง
๓. การทำและการรับรองประวัตินั้น ต้องให้ตรงกับที่เป็นจริง หากรายการในประวัติเกินกว่าความเป็นจริง ย่อมเป็นการรายงานและรับรองรายงานเท็จ ทั้งเจ้าของประวัติและทั้งผู้รับรองย่อมมีความผิด ฐานรายงานและรับรองรายงานเท็จ
๔. การลงรายการราชทินนามและขอเลื่อนชั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัด
๕. หนังสือขอพระราชทานสมณศักดิ์และหนังสือขอประทานเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการ ต้องแยกเป็นชนิดละเรื่อง อย่ารวมเป็นเรื่องเดียวกัน
๖. ต้องส่งเรื่องราวตามกำหนดเวลา คือ.-
(๑) ส่งถึงเจ้าคณะจังหวัด ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน
(๒) ส่งถึงเจ้าคณะภาค ภายในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม
(๓) ส่งถึงเจ้าคณะใหญ่ ภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม
Views: 802