บทที่ ๑ องค์กรปกครองคณะสงฆ์

บทที่ ๑

องค์กรปกครองคณะสงฆ์

———————

          คำว่า องค์กร เป็นคำนาม  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ให้ความหมายว่า  ส่วนประกอบย่อยของหน่วยใหญ่  ทำหน้าที่สัมพันธ์กันหรือขึ้นต่อกันและกัน

        ในปัจจุบัน มีหน่วยงานที่เรียกว่า องค์กรอยู่มาก ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน แม้การปกครองคณะสงฆ์  ก็มีผู้นิยมใช้คำว่า  องค์กร”  เช่นเดียวกัน  ทั้งที่บทบัญญัติว่าด้วยการคณะสงฆ์ไม่ปรากฏคำนี้อยู่เลย  แต่เมื่อว่าโดยลักษณะการปกครองหรือการดำเนินกิจการคณะสงฆ์แล้ว  ย่อมจัดเป็นองค์กรได้  เพราะการปกครองคณะสงฆ์นั้น โดยรูปแบบมี สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก  ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทุกคณะ แล้วมีหน่วยบัญชาการคณะสงฆ์หรือศูนย์รวมอำนาจการปกครองคณะสงฆ์คือ มหาเถรสมาคม  เป็นสถาบันปกครองคณะสงฆ์สูงสุด จากนั้น มีหน่วยงานย่อยลดหลั่นกันตามสายงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและส่วนวัด  ทุกหน่วยงานมีความสัมพันธ์กันและโยงเข้าสู่ผู้บัญชาการคณะสงฆ์กล่าวคือองค์สกลมหาสังฆปริณายกทั้งสิ้น  จึงขอเรียกว่า  องค์กรปกครองคณะสงฆ์

        ก็แล  องค์กรปกครองคณะสงฆ์นั้น  ยังมีส่วนประกอบสำคัญหลายประการ อาทิ  ผู้บัญชาการ  ผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ ระเบียบการ การ อุปกรณ์และอื่น ๆ ส่วน ประกอบขององค์กรปกครองคณะสงฆ์จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ เพราะมีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายซึ่งทางราชอาณาจักรถวายเป็นหลัก พระราชบัญญัติที่ให้อำนาจดำเนินการเช่นว่านี้  ได้แก่พระราชบัญญัติหลัก  ๓  ฉบับ  และที่ทรงตราขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิมให้เหมาะสมยิ่งขึ้นอีก  ๑  ฉบับ  คือ

        ๑.  พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก  ๑๒๑ 

        ๒.  พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พุทธศักราช  ๒๔๘๔

        ๓.  พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ.  ๒๕๐๕

        ๔.  พระราชบัญญัติคณะสงฆ์  (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ. ๒๕๓๕

        ดังนั้น  องค์กรปกครองคณะสงฆ์จึงจัดเป็น  ๓  รูปแบบ  ตามลักษณะพระราช-บัญญัติที่ให้อำนาจจัดการ  คือ

        ๑.  องค์กรปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

        ๒.  องค์กรปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พุทธศักราช ๒๔๘๔

        ๓.  องค์กรปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ.๒๕๐๕ และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒)  พ.ศ.๒๕๓๕