บทที่ ๒ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

บทที่ ๒

พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์

รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

———————–

นำเรื่อง

———

     ต่อแต่นี้ไป เป็นวาระที่จะนำศึกษาพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติให้จัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ฉบับแรกในประเทศนี้ ก่อนแต่จะเรียนถวายเรื่องพระราชบัญญัตินั้น ขอเรียนถวายถึงการปกครองคณะสงฆ์ในช่วงที่จะมีพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อได้ทราบความเชื่อมโยง

      การปกครองคณะสงฆ์ก่อนที่จะตราพระราชบัญญัตินี้นั้น ได้อาศัยพระบรมราชโองการ ขององค์พระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ โดยพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาถวายความอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ทั้งส่วนสมณศักดิ์และตำแหน่ง เพื่อให้มีบารมีและอำนาจพอจัดการปกครองหมู่คณะของตนตลอดมา พระสงฆ์สมัยนั้น ถ้าแยกตามนิกายใหญ่ซึ่งเป็นหลัก มี ๒ นิกาย คือ คณะมหานิกายเป็นคณะดั้งเดิม ๑ คณะธรรมยุติกาหรือคณะธรรมยุตติกนิกายคณะตั้งใหม่ ๑ ถ้านับเป็นคณะได้ ๔ คณะ คือ คณะเหนือ, คณะใต้, คณะธรรมยุติกา, คณะกลาง พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้น เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นประธานสงฆ์ทั้งสังฆมณฑล สถาปนาพระราชาเจ้าคณะรองขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ เป็นเจ้าคณะใหญ่ คณะทั้ง ๔ นั้น และสถาปนาพระราชาคณะขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระราชาคณะชั้นหิรัญบัฎ” เรียกทั่วไปว่า “รองสมเด็จ” บ้าง นอกจากนั้นทรงโปรดตั้งพระราชาคณะชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราชและชั้นสามัญ เพื่อช่วยการคณะสงฆ์ การวัดตามสมควรแก่สถานะ

      ในช่วงก่อนแต่จะตราพระราชบัญญัตินี้ ๓ ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ แต่ยังไม่มีการทรงสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใด ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชคงว่างอยู่ ระยะนั้นการปกครองคณะสงฆ์แยก ๔ คณะ คือ

     ๑) คณะเหนือ มี

           (๑) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง  ปญฺญาทีโป) วัดราชบูรณะ เป็นเจ้าคณะใหญ่

            (๒) พระพิมลธรรม (ยัง เขมาภิโต) วัดโสมนัสวิหาร เป็นเจ้าคณะรอง

      ๒) คณะใต้ มี          

           (๑) สมเด็จพระวันรัต ( ฑิต อุทโย ) วัดมหาธาตุ เป็นเจ้าคณะใหญ่

           (๒) พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) วัดเบญจมบพิตร เป็นเจ้าคณะรอง

      ๓) คณะธรรมยุติกา มี

           (๑) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเจ้าคณะใหญ่

           (๒) พระศาสนโสภน (อ่อน อหึสโก) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม เป็นเจ้าคณะรอง

      ๔) คณะกลาง มี

           (๑) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ฤทธิ ธมฺมสิริ) วัดอรุณราชวราราม เป็นเจ้าคณะใหญ่

           (๒) พระพรหมมุนี (เขียว จนฺทสิริ) วัดราชาธิวาส เป็นเจ้าคณะรอง

      ทั้ง ๔ คณะที่ยกมานี้ คณะเหนือ คณะใต้ และคณะกลาง เป็นพระสงฆ์สังกัดคณะมหานิกาย คณะธรรมยุติกาเป็นพระสงฆ์สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย เฉพาะคณะธรรมยุติกนิกาย ทั้งเจ้าคณะใหญ่ และเจ้าคณะรอง เป็นพระธรรมยุติกนิกาย แต่อีก ๓ คณะ เจ้าคณะใหญ่เป็นพระมหานิกาย ส่วนเจ้าคณะรองเป็นพระธรรมยุติกนิกายถึง ๒ รูป จึงเป็นอันชัดเจนว่า คณะธรรมยุติกนิกายเป็นเจ้าคณะปกครองตนเองโดยเฉพาะ ส่วนคณะมหานิกายถูกก้าวก่ายการปกครอง เป็นมาเช่นนั้นแต่ต้น จนวันตราพระราชบัญญัตินี้

      อนึ่ง คณะสงฆ์รามัญหรือรามัญนิกาย และคณะอรัญวาสี ซึ่งเคยมีมาแต่เดิม มิได้ปรากฏว่ามีเจ้าคณะใหญ่ก่อนวันตราพระราชบัญญัติ คงจะรวมในคณะกลางหรือคณะใดคณะหนึ่งแล้ว ก่อนวันตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติ

      ในการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ มีพระราชปรารภเป็นบทนำว่า

      มีพระบรมพระราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

      ทุกวันนี้การปกครองข้างฝ่ายพระราชอาณาจักร ก็ได้ทรงพระราชดำริแก้ไขและจัดตั้งแบบแผนการปกครองให้เรียบร้อยเจริญดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นหลายประการแล้ว

      และฝ่ายพระพุทธจักรนั้น การปกครองสงฆมณฑล ย่อมเป็นการสำคัญทั้งในประโยชน์แห่งพระศาสนาและในประโยชน์ความเจริญของพระราชอาณาจักรด้วย ถ้าการปกครองสงฆมณฑลเป็นไปตามแบบแผนอันเรียบร้อยพระศาสนาก็จะรุ่งเรืองถาวรและจะชักนำประชาชนทั้งหลายให้ความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสโนวาทประพฤติสัมมาปฎิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณ ในสงฆสำนักยิ่งขึ้นเป็นอันมาก

      มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงสงมณฑลให้เจริญคุณสมบัติมั่นคงสืบไปในพระศาสนา จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้สืบไปดั่งนี้ว่า

      จากพระราชปรารภข้างบนนี้ ในขณะนั้น ฝ่ายพระราชอาณาจักรได้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จัดแบบแผนดีขึ้นแล้ว โดยเป็นการปรับปรุงเขตปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ แขวง อย่างชัดเจนทุกหัวเมืองแล้ว ทรงห่วงใยทางฝ่ายพระพุทธจักร  ทรงประสงค์จะปรับปรุงให้สอดคล้องกัน  เพราะทรงมีพระราชปณิธานให้การปกครองทางพุทธจักร มีระเบียบแบบแผนดีงาม อันจะเป็นเหตุสังฆมณฑลเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพร เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาปสาทะของประชาชน ประชาชนจะประพฤติสัมมาปฏิบัติและร่ำเรียนวิชาคุณในสงฆ์สำนักมากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งพุทธจักรและราชอาณาจักร

      ในพระราชบัญญัตินี้ จัดเป็นหมวดได้ ๘ หมวด จำนวน ๔๕ มาตรา ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๑ เป็นปีที่ ๓๔ ในรัชกาลปัจจุบัน ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๔๕

     ต่อแต่นี้ไปจะอธิบายเรียงตามหมวดและตามมาตราเฉพาะที่ควรอธิบาย เพื่อให้ผู้ศึกษาได้เข้าใจในระบบการปกครองแต่ละสมัยได้ถูกต้อง