กลอนเพลงปฏิพากย์ หรือบางท่านใช้ว่า กลอนเพลงปฏิพาทย์ ก็มี เป็นกลอนที่มีลักษณะพิเศษกว่าที่กล่าวมา เพราะเป็นกลอนปฏิภาณกวี โดยมีลักษณะแบบกลอนสด ซึ่งกล่าวโต้ตอบกันระหว่างบุคคล หรือแบบร้องขอความรักใคร่, ความเห็นใจ หรือร้องขอแบบอธิษฐาน ร้องเดี่ยวชมโฉม เกี้ยวพาราสี แสดงถึงความบนบาน แม้เป็นกลอนเฉพาะท้องถิ่น ก็แสดงถึงความสามารถของผู้แต่งชนิดมีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกัน ลักษณะบทกลอนและจำนวนคำที่ใช้ ก็กำหนดไว้กว้าง ไม่ชัดเจนใด ๆ เพราะการปฏิภาณโวหารกำหนดจำกัดได้ยาก สุดแต่กลอนจะพาไป เพราะฉะนั้น กลอนเพลงปฏิพากย์จึงใช้เพลงถึง ๑๕ ชนิด คือ เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงปรบไก่ เพลงแห่นาค เพลงพิษฐาน (อธิษฐาน) เพลงชาวไร่หรือระบำชาวไร่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงโคราชหรือเพลงตะวันออก เพลงรำอีแซว เพลงลิเก เพลงลำตัด เพลงแหล่เทศน์หรือกลอนเทศน์ และเพลงขอทาน ทั้ง ๑๕ เพลงนี้ บางเพลงมีสร้อยสลับหลายอย่างและมีทำนองโดยเฉพาะ แต่ยกไว้ จะกล่าวเฉพาะจำนวนคำ พร้อมการสัมผัสเพลงต่าง ๆ ที่กำหนดคำสุดท้ายของวรรคคี่ที่ส่งสัมผัสไปยังวรรคคู่ ที่ ๒ หรือที่ ๒ หรือ ๓ หมายถึงการนับตัวสุดท้ายของวรรคคู่เข้ามา เพราะต้องเหลือท้ายวรรคคู่ ๒ บ้าง ๓ บ้าง มีแผนผังและตัวอย่างเท่านั้นดังต่อไปนี้