บทที่ ๕ ว่าด้วยฉันท์

        ได้กล่าวไว้ในบทนำเรื่องแล้วว่า คำประพันธ์หรือคำร้อยกรอง ซึ่งเรียกกันว่า “คำประพันธ์” “บทกวี” หรือ “บทกานท์” ซึ่งหมายถึงถ้อยคำที่เรียบเรียงเป็นคำร้อยกรอง โดยมีฉันทลักษณ์เป็นหลัก คำร้อยกรองดังว่านี้ จัดเป็นประเภทได้ ๕ คือ ร่าย กาพย์ กลอน โคลง และฉันท์ ได้ยกมาเรียบเรียงฉันทลักษณ์และวิธีร้อยกรองมาตามลำดับ ๔ ประเภทแล้ว ในบทนี้ จึงจะเรียบเรียงไว้เฉพาะเรื่องฉันท์ ซึ่งเป็นประเภทสุดท้าย โดยจะกล่าวเฉพาะที่เหมาะควร

ความเบื้องต้น

       ในเบื้องต้นควรทำความเข้าใจในคำต่อไปนี้ให้ถูกต้องก่อน จึงเรียนเรื่องฉันท์ต่อไป คำที่ควรทราบมี ๔ คือ พยางค์ วรรค บาท และบท

       พยางค์ ได้แก่ ถ้อยคำหรือคำพูดที่ปรากฏเป็นตัวหนังสือ และที่ไม่ปรากฏชัด เช่นคำว่า ไป ไหน มา เป็นคำโดด ๆ นับคำต่อคำ และคำรวมกัน เช่น ผดุง บำรุง ราชการ สัตยา เป็นคำผสม เรียกพยางค์ผสมบ้าง นับเอาตามจำนวนเสียงที่เปล่งออก ผดุง บำรุง นับเป็น ๒ คำ ราชการ สัตยา นับเป็น ๓ คำ ในกวีบางประเภท ราชการ และสัตยา นับเป็น ๒ คำได้ในบางกรณี แต่ในฉันท์นับเป็น ๓ คำอย่างเดียว

        วรรค ได้แก่ พยางค์ที่รวมกันแล้ว นับจำนวนได้ครบตามที่กำหนด เรียกว่า “วรรค” แต่ละฉันท์กำหนดแตกต่างกัน รวม ๒ วรรคเป็นหนึ่งบาท รวม ๔ วรรคเป็นหนึ่งบทบ้าง รวม ๓ วรรคเป็นหนึ่งบทบ้าง

        บาท ได้แก่ การรวม ๒ วรรค ในฉันท์ที่มี ๔ บาท รวม ๒ วรรคแล้วเป็น ๑ บาท รวมอีก ๒ บาทจึงเป็นหนึ่งบท ฉันท์ที่มี ๔ บาท มีชื่อเรียกในวงนักกวี คือ บาทเอกและบาทโท บาทคี่และบาทคู่ กับ บาทคี่และบาทขอน บาทคี่คือบาทที่ ๑ และที่ ๓ บาทคู่และบาทขอนคือบาทที่ ๒ และที่ ๔ ซึ่งในฉันท์ภาษามคธเรียกว่า วิสมบาท และสมบาท

        บท ได้แก่ การรวมบาททั้งหลาย หรือรวมวรรคทั้งหลายเข้าเป็นบทตามฉันทลักษ์แล้ว ถือเป็นฉันท์บทหนึ่ง บางกรณีรวมหลายวรรคเข้าเป็นบท บางกรณีรวมหลายบาทเข้าเป็นบท.

        คำว่า “ฉันท์” หมายถึงถ้อยคำที่ร้อยกรองโดยปราศจากข้อบกพร่อง กล่าวคือ ปิดเสียซึ่งโทษ จึงเป็นคำร้อยกรองชั้นสูง ที่ละเอียดและสำคัญกว่าบทกวีประเภทอื่น เพราะในฉันทลักษณ์ของฉันท์ไทย กำหนดไว้โดยละเอียดชัดเจน ทั้งเสียงหนักเสียงเบา (ครุ-ลหุ) ทั้งการสัมผัส กล่าวคือคำที่สำเร็จมาจากสระเสียงเดียวกัน อันเป็นการนับเสียงไว้ชัดเจน จำนวนคำจะขาดหรือจะเกินมิได้ ดังคำกวีประเภทอื่น

        ฉันท์ไทยนั้น เราได้แบบมาจากฉันท์ภาษามคธ ซึ่งปรากฏในคัมภีร์    วุตโตทัย และในคัมภีร์วุตโตทัยนั้น โบราณาจารย์ท่านรจนาฉันทลักษณ์ไว้ เรียกว่าคาถา จัดเป็น ๒ ประเภท คือ คาถาวรรณพฤติและคาถามาตราพฤติ

        ในพฤติทั้งสองนี้ วรรณพฤติมี ๘๑ คาถา มาตราพฤติมี ๒๗ คาถา มีชื่อฉันท์คุมกลุ่มคาถาอีกชั้นหนึ่ง รวมคาถาทั้ง ๒ ประเภทนี้ เป็น ๑๐๘ คาถา วรรณพฤติ คือ การกำหนดคำที่มีเสียงหนัก (ครุ) และคำที่มีเสียงเบา (ลหุ) บังคับคำที่หนัก-เบา เป็นหลัก มาตราพฤติ คือการนับคำเสียงหนัก (ครุ) เป็น ๒ มาตรา คำที่เสียงเบา (ลหุ) คำหนึ่งเป็น ๑ มาตรา จึงมีข้อแตกต่างกัน ไทยเรานำเอาซึ่งคาถานั้น ๆ และฉันทลักษณ์ แห่งคาถานั้น ๆ มาบัญญัติเรียกว่า “ฉันท์” เช่น วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ ในคัมภีร์วุตโตทัย เรียกว่า วสันตดิลกคาถา อยู่ในหมวดฉันท์ ๑๔ พยางค์ ซึ่งเรียกฉันท์ว่า สักกรีฉันท์ ไทยเรานำมาบัญญัติใหม่เรียกว่า วสันตดิลกฉันท์ ๑๔ โดยนำเอาฉันทลักษณ์ของวสันตดิลกคาถามาเพียงครึ่งเดียว คือ ๒ บาท มาแบ่งเป็น ๒ บาท ๆ ละ ๒ วรรค เพิ่มสัมผัสในบาทและต่างบาททั้งต่างบทไว้ชัด แม้ฉันท์อื่น ๆ ก็เป็นโดยลักษณะนี้

        คาถาในภาษามคธนั้น บังคับเฉพาะจำนวนคำ คือคำที่มีเสียงหนัก (ครุ) คำที่มีเสียงเบา (ลหุ) ไว้ชัดเจนว่า ฉันท์ใดมีจำนวนคำที่มีเสียงหนักเท่าใด มีจำนวนคำที่มีเสียงเบาเท่าใด รวมแล้วเป็นกี่คำอย่างชัดเจน จะขาดหรือจะเกินมิได้ แต่มิได้บังคับให้มีสัมผัส ทั้งภายในวรรคทั้งนอกวรรคไว้เลย เพราะสระมาตรา (แม่) อันเป็นเครื่องทำเสียงมีน้อย บางคราวย่อมมีคำสัมผัสอยู่ภายใน แต่มิได้บังคับ

        แต่ฉันท์ในภาษาไทยเรานั้น เราได้นำฉันทลักษณ์จากคัมภีร์วุตโตทัยเป็นหลักในเรื่องจำนวน และเสียงหนักเบา แล้วกำหนดเพิ่มสัมผัสนอกวรรคและนอกบทไว้ กล่าวคือจัดให้มีสัมผัสในบาทหรือในวรรคในบทเดียวกัน และการส่งและรับสัมผัสต่างบทไว้ตามลักษณะของแต่ละฉันท์ ตามที่เห็นว่าพอเหมาะสมแก่ภูมิปัญญาของคนไทยและเสียงดนตรีไทย

        การนำฉันทลักษณ์ในภาษามคธ มาปรับปรุงเป็นฉันทลักษณ์ไทยนั้น บางชนิดนำมาเพียงครึ่งเดียว แล้วแบ่งให้ครบบทฉันท์ไทย  เช่น วสันตดิลก ในภาษามคธ บทหนึ่งหรือคาถาหนึ่งมี ๔ บาท ๆ ละ ๑๔ คำ รวมเป็น ๕๖ คำ เป็นคาถาหนึ่ง ไทยเรานำเอามาเพียง ๒ บาท ๒๘ คำ มาจัดเป็น ๒ บาท แบ่งออกเป็น ๔ วรรค แต่ละบาท วรรคแรก ๘ คำ วรรคที่สอง ๖ คำ  ๒ บาท ๔ วรรค รวมเป็น ๒๘ คำ เท่านั้น แต่บางฉันท์นำมาครบทั้ง ๔ บาท เช่น วิปริตปัฐยาวัตรฉันท์ ๓๒ นำมาทั้ง ๔ บาท ๆ ละ ๘ คำ รวมเป็น ๓๒ คำ บางฉันท์นำมาเพียง ๑ บาท เช่น สัทธราฉันท์ ๒๑ ในภาษามคธ เป็นฉันท์ ๔ บาท  ๆ ละ ๒๑ คำ รวมเป็น ๘๔ คำ ไทยเรานำเอาเพียง ๑ บาท จำนวน ๒๑ คำ จัดแบ่งเป็น ๔ วรรค และจัดวางแยกวรรค และบังคับสัมผัสให้เหมาะสม

        ในการบัญญัติเสริมฉันทลักษณ์ของแต่ละฉันท์นั้น เป็นเพียงการเสริมให้เหมาะสมกับเสียงดนตรี เช่น การจัดวรรคตอน การให้สัมผัสระหว่างบาท ระหว่างวรรค ระหว่างบทต่อบท ฉันทลักษณ์ไทยจึงมีลักษณะละเอียดยิ่งขึ้น ผู้ประสงค์จะเรียนแต่งหรืออ่านฉันท์ไทย จะต้องเรียนให้ทราบหลักเกณฑ์อย่างถูกต้อง และครบถ้วน จึงขอนำมาแสดงพอเป็นแนวทางแห่งการศึกษา

คณะฉันท์

        คำที่เกิดขึ้นจากพยัญชนะผสมกับสระซึ่งเรียกว่า แม่ ก กา ก็ดี คำที่ผสมกับพยัญชนะซึ่งจัดเป็นมาตราหรือแม่ เช่น แม่กก แม่กด เป็นต้นก็ดี เรียกว่า “คำ” หรือ “พยางค์” คำหรือพยางค์นั้น จะเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาวก็ตาม เมื่อกันเข้าได้ ๓ คำ จัดเป็นคณะฉันท์คณะหนึ่ง ในวรรณพฤติ แต่ในมาตราพฤติ ม คณะมีเพียง ๒ คำ น คณะมีถึง ๔ คำ อีก ๖ คณะมีจำนวนคำเท่ากับวรรณพฤติ คณะฉันท์ทั้งในวรรณพฤติและในมาตราพฤติ มี ๘ คณะ กำหนดชื่อสั้น ๆ อย่างเดียวกัน ซึ่งย่อมาจากคำหลักที่สำคัญ โดยย่อเอาจากสิ่งที่พราหมณ์เคารพบูชา ดังนี้ :-

       ย    คณะ     ย่อมาจากคำว่า        ยชมานะ (พราหมห์บูชายัญ)

       ร     คณะ     ย่อมาจากคำว่า        รวิ (พระอาทิตย์)      

       ส     คณะ     ย่อมาจากคำว่า        โสมะ (พระจันทร์)

       ภ    คณะ     ย่อมาจากคำว่า        ภูมิ  (แผ่นดิน)

       ช     คณะ     ย่อมาจากคำว่า        ชลนะ (ไฟ)

       น    คณะ     ย่อมาจากคำว่า        นภะ (ฟ้า)

       ต     คณะ     ย่อมาจากคำว่า        โตยะ (น้ำ)

       ม    คณะ     ย่อมาจากคำว่า        มารุตะ (ลม)

        แต่ในอธิการนี้ จะกล่าวเฉพาะคณะฉันท์ในวรรณพฤติเท่านั้น โดยที่ในคัมภีร์ฉันทวุตติปทีป ท่านยกเป็นคำหลักไว้ว่า

              สพฺพญฺญู        โม          สุมุนิ        โน

              สุคโต             โส          มุนินฺท      โช

              มาราริ           โต          มารชิ        โภ

              นายโก           โร           มเหสี        โย

        ถือเอาความว่า

           คณะ   เป็นครุล้วน             น คณะ   เป็นลหุล้วน

       ส     คณะ   มีลหุอยู่หน้าสองคำ      ช   คณะ   มีครุตัวเดียวอยู่กลาง

       ต     คณะ   มีลหุตัวเดียวอยู่ท้าย     ภ คณะ   มีลหุสองตัวอยู่ท้าย

       ร     คณะ   มีลหุตัวเดียวอยู่กลาง    ย คณะ   มีลหุตัวเดียวอยู่หน้า

        คำว่า สพฺพญฺญู โม เป็นต้น ต้องท่องจำให้ขึ้นใจและศึกษาความหมายให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน

        อนึ่ง นักปราชญ์โบราณท่านแต่งเป็นโคลงสุภาพไว้ว่า

รูปแบบคณะฉันท์

        คณะฉันท์ทั้ง ๘ คณะนั้น ถ้าวางให้เป็นรูป จะเป็นรูปแบบดังนี้

ครุและลหุ

       ครุ คือคำหรือพยางค์ที่มีเสียงหนัก ปรากฏตัวอักษรชัด โดยจะใช้ เป็นเครื่องหมาย

       ลหุ คือคำหรือพยางค์ที่มีเสียงเบา ทั้งที่ปรากฏตัวอักษร ทั้งที่ไม่ปรากฏอักษรชัดเจน โดยจะใช้  เป็นเครื่องหมาย

        คำหรือพยางค์ที่จัดเป็นครุ จำแนกเป็น ๔ ชนิด คือ สังโยคาทิครุ ๑ ทีฆครุ ๑ นิคคหิตครุ ปาทันตครุ ๑

        สังโยคาทิครุ ได้แก่คำหรือพยางค์ที่มีตัวอักษรซ้อนหรือสะกด ได้ในมาตรา ๘ หรือแม่ทั้ง ๘ เช่น กก กด กบ กม เช่น ปราชญ์ โดด โปรด

        ทีฆครุ ได้แก่ คำที่สระแม่ ก กา ตามหลังสระเสียงยาวทุกตัวเป็นทีฆสระ เช่น กา ฐา ปา ตา ดี ตี โต ตรู ปู

        นิคคหิตครุ ได้แก่ อักษรที่มีสระ อัง อิง อุง ต่อท้าย เช่น กัง กิง ติง กุง ปรุง

        ปาทันตครุ ได้แก่ คำท้ายบาทคาถา ซึ่งมีสระเสียงสั้นก็ตาม ก็ถือว่าเป็นครุได้ ปาทันตครุ ใช้เฉพาะฉันท์ภาษามคธ ส่วนฉันท์ไทยมิได้ใช้

        คำหรือพยางค์ที่จัดเป็นลหุ ได้แก่ คำที่มีสระเสียงสั้น ในภาษามคธ สระเสียงสั้นมี ๓ คือ อะ อิ อุ แต่ในภาษาไทยมีลหุสระ สระเสียงเบา หรือรัสสสระ สระเสียงสั้น ดังนี้ อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ ฤ ฦ ซึ่งไม่มีตัวสะกด

        เฉพาะสระอำ ที่ไม่มีวรรณยุกต์ ใช้เป็นลหุและครุได้ ที่มีวรรณยุกต์ ใช้เป็นครุอย่างเดียว

        นอกจากนี้ ก็ บ ธ ณ จัดเป็นลหุ คำที่ออกเสียงสระออ ถ้าไม่ปรากฏตัว อ อยู่ด้วย จัดเป็นลหุ เช่น บวร (บอวร) วรชัย (วอระชัย) ถ้ามีตัว อ อยู่ด้วย เช่น พอ คอ จัดเป็นครุ

ศัพท์ลอย

       ตามฉันทลักษณ์ ซึ่งกำหนดจัดคำเรียบเรียงเข้าเป็นคณะฉันท์ นอกจากจะกำหนดตามคณะฉันท์ ๘ คณะแล้ว ยังกำหนดให้ใช้ศัพท์ลอยหรือคำลอยได้อีก กล่าวคือ ครุลอย ๑ ลหุลอย ๑ มีกำหนดไว้ในบางฉันท์

ยัติภังค์

       ยัติภังค์ คือการแยกคำพูดหรือแยกตัวอักษรบางตัวจากคำใดคำหนึ่ง โดยแยกไปไว้ ณ วรรคหนึ่ง หรือไปอีกบทอื่น ทั้งนี้ ให้แยกได้ในฉันท์บทเดียวกัน แต่ฉันท์ต่างบทกัน เป็นอันห้ามไว้แท้

สัมผัส

        สัมผัส คือการส่งคำที่เกิดจากสระเสียงเดียวกัน จากวรรคหนึ่งไปยังวรรคหนึ่ง ในฉันท์บทเดียวกัน แม้คำที่เกิดจากมาตราหรือแม่เดียวกัน หรือการส่งจากท้ายฉันท์บทหนึ่ง ไปยังฉันท์บทจะแต่งต่อไป ในลักษณะเช่นนี้ เรียกว่าสัมผัสทั้งนั้น มีบังคับไว้เฉพาะสัมผัสระหว่างวรรคในฉันท์บทเดียวกัน และในฉันท์ต่างบท (ดูแผนผังประกอบ) และสัมผัสชนิดที่เรียกว่าสัมผัสนอก ส่วนการสัมผัสในวรรคเดียวกัน ก็ย่อมสัมผัสได้ แต่มิได้กำหนดไว้

สัมผัสต่างบท

        ในเมื่อแต่งฉันท์จบบทหนึ่งแล้ว จะแต่งฉันท์ชื่อเดิมนั้นต่อไป หรือจะแต่งฉันท์ชื่ออื่น หรือจะแต่งกาพย์ต่อไป จะต้องส่งสัมผัสจากคำสุดท้ายของบทที่แต่งจบ ไปยังบทถัดไปในฉันท์ชื่อเดียวกัน หรือในฉันท์ชื่ออื่น หรือในกาพย์ที่จะแต่งต่อไป เช่นเดียวกับการแต่งกลอน แม้จะส่งให้กาพย์หรือคำสัมผัสจากกาพย์ มีวิธีปฏิบัติดังนี้

        ๑ การส่ง จะต้องส่งจากคำสุดท้ายของฉันท์บทที่แต่งจบลง โดยส่งสัมผัสสระหรือสัมผัสแม่ต่าง ๆ เพื่อให้บทต่อไปรับ ส่วนการรับนั้น มีรายละเอียดดังจะกล่าวต่อไป

        ๒ การรับ การรับสัมผัสจากฉันท์ หรือกาพย์บทอื่นที่ส่งให้ต้องยึดตามลักษณะของฉันท์หรือกาพย์ที่รับ ดังนี้

        ๑) ฉันท์ที่มีลักษณะ ๒ บาท ๆ ละ ๒ วรรค ต้องรับด้วยคำสุดท้ายของบาทที่ ๑  คือคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ดูตัวอย่าง นการวิปุลาฉันท์ ๓๒ ในหน้า ๑๗๕ และอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ ในหน้า ๑๑๖

        ๒) ฉันท์ที่มีลักษณะเป็น ๓ วรรค ต้องรับด้วยคำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ และคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ แม้กาพย์ก็มีลักษณะอย่างนี้ ก็รับอย่างเดียวกัน ดู ทุตมัชฌาฉันท์ ๒๓ ในหน้า ๑๖๙ และกาพย์ฉบัง ๑๖ ในหน้า ๔๕ เป็นตัวอย่าง

        ๓) ฉันท์ที่มี ๔ บาท ๆ ละ ๑๐ คำ ต้องรับด้วยคำสุดท้ายของบาทที่ ๒ ดูสสิกลาฉันท์ ๑๕ ในหน้า ๑๔๖ เป็นตัวอย่าง

        ๔) ฉันท์ที่มี ๒ บาท ๆ ละ ๑๐ คำ ต้องรับด้วยคำสุดท้ายของบาทที่ ๒ ดู อุพภาสกฉันท์ ๑๐ ในหน้า ๑๑๓ เป็นตัวอย่าง

        ๕) ฉันท์ที่มี ๔ บาท ๆ ละ ๖ – ๙ คำ ต้องรับด้วยคำสุดท้ายของบาทที่ ๒ ดู สมานิกาฉันท์ ๘ ในหน้า ๑๐๓ และหลมุขีฉันท์ ๙ ในหน้า ๑๐๕ เป็นตัวอย่าง

        ๖) ฉันท์ที่มี ๔ บาท ๆ ละ ๒ วรรค ต้องรับด้วยคำสุดท้ายของบาทที่ ๒ คือคำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ดู มาณวกฉันท์ ๘ ในหน้า ๑๐๒ เป็นตัวอย่าง แม้สุรางคนางค์ฉันท์ ๒๘ ก็ยึดถือตามนี้

ฉันทลักษณ์และตัวอย่าง

        โดยที่ฉันท์วรรณพฤติ ได้มีการบัญญัติข้อบังคับ ใช้กันมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่มีใช้เพียงบางฉันท์เท่านั้น ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงถ่ายแบบฉันท์จากภาษามคธ กำหนดให้เป็นแบบฉันทลักษณ์ไทย ไว้ชัดเจนถึง ๕๐ ฉันท์ ครั้นต่อมา นายฉันท์ ขำวิไล เปรียญแห่งวัดมหาธาตุ ได้ถ่ายแบบจากฉันท์ภาษามคธ เพิ่มขึ้นอีกถึง ๓๑ ฉันท์ จึงรวมเป็น ๘๑ ฉันท์ เท่ากับจำนวนคาถาในคัมภีร์วุตโตทัย พร้อมจัดรวมทั้งของเดิมและที่กำหนดใหม่พิมพ์เป็นรูปเล่ม เรียกว่า ฉันทศาสตร์ ให้นักกวีไทยได้ใช้มาตามลำดับ ข้าพเจ้ามีศรัทธาในฉันท์ไทยเป็นอย่างยิ่ง ได้ศึกษาตามฉันทศาสตร์ และคัมภีร์วุตโตทัย และหนังสืออื่นอีกหลายเล่ม เพื่อจะเรียบเรียงตำรากวีไทยไว้ เมื่อได้ศึกษาโดยละเอียดแล้ว เห็นว่าพอมีช่องที่จะกำหนดเพิ่มฉันท์ขึ้นได้อีก จึงเพิ่มอีก ๑๑ ฉันท์ โดยจะจัดเรียงไว้ต่อท้ายจากของเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นทางออกใหม่ สำหรับผู้สนใจใฝ่การประพันธ์ เพราะฉันท์วรรณพฤติในจำนวน ๘๑ ฉันท์นั้น บางฉันท์ไม่เหมาะไม่เสนาะเพราะพริ้งในการปรุงเป็นฉันท์ไทย มีที่เสนาะเพราะพริ้งได้คงไม่เกิน ๔๐ ฉันท์ ที่ข้าพเจ้ากำหนดเสริมนั้น มีลักษณะเหมาะกับรสนิยมของไทยอยู่ เมื่อข้าพเจ้าเตรียมการกำหนดจะเรียบเรียงเรื่องฉันทลักษณ์และวิธีแต่งฉันท์แล้ว ได้แต่งฉันท์ปรารภความในเบื้องต้น  แล้วแต่งเป็นฉันท์ตัวอย่าง ตามลำดับฉันท์ ๆ ละ ๑ – ๓ บท ตั้งแต่ฉันท์ของเดิม จนถึงฉันท์ที่กำหนดใหม่ โดยให้สัมผัสต่อกันไปตามลำดับ จบแล้วมีบทส่งท้าย เฉพาะตัวอย่างเพื่อนำลงประกอบแผนผังในตอนฉันท์นั้น ๆ เป็นลำดับไป